เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โนเกียเปิดตัวมือถือ Lumia รุ่นจอใหญ่ 6 นิ้ว (phablet) ใหม่สองตัวพร้อมกันคือ
Lumia 1520 และ
Lumia 1320
ถึงแม้ความสนใจของคนส่วนใหญ่มักไปอยู่ที่ Lumia 1520 ที่เป็นตัวท็อปเสียมาก (
รีวิว 1520 ฉบับ Blognone) แต่ตัวรองอย่าง Lumia 1320 ก็ยังมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมีสเปกที่ดีพอสมควรในระดับราคาที่ถูกกว่ากันมาก (11,500 บาท vs 22,900 บาท) และซอฟต์แวร์ที่ไม่ต่างจากรุ่นพี่ๆ มากนัก (เป็นแถม Lumia Black มาตั้งแต่โรงงาน)
สเปกของ Lumia 1320 และความแตกต่างกับ 1520
- มือถือทั้งสองตัวใช้หน้าจอขนาด 6 นิ้ว IPS ClearBlack เหมือนกัน แต่จอภาพของ 1520 เป็นจอ ClearBlack ความละเอียด 1080p ส่วนจอของ 1320 เป็นจอ LCD IPS 720p (245 ppi) จากการใช้งานจริงไม่รู้สึกว่าจอไม่ละเอียดแต่อย่างใด ความละเอียด 720p เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป
- หน่วยประมวลผลของ 1320 ใช้ Snapdragon S4/400 (1520 ใช้ Snapdragon 800) แต่จากการใช้งานจริงก็ไม่รู้สึกว่า 1320 ช้าเลย (เหตุผลหนึ่งคือ WP8 ไม่ค่อยกินเครื่องด้วย)
- แรม 1GB, ความจุภายใน 8GB, ใส่ microSD ได้
- กล้องหลัง 5MP ตรงนี้อาจจะด้อยกว่า PureView 20MP ของ 1520 อยู่บ้าง แต่คุณภาพกล้องก็ใช้งานได้พอสำหรับงานทั่วไป
- แบตเตอรี่ขนาด 3400 mAh
- รองรับ LTE ในตัว (ใช้ไมโครซิม)
รูปลักษณ์ภายนอก
ดีไซน์ของ Lumia 1320 ยังยึดตามคอนเซ็ปต์ของ Lumia คือเป็นพลาสติกสีสันสดใส (เครื่องที่ได้มาทดสอบเป็นสีเหลือง) ส่วนตัวของ Lumia 1320 เองใช้ดีไซน์แนวโค้งมนเหมือนกับ Lumia 620/625 (เหมือนจับเอา 620 มาขยายร่าง)
ปุ่มทุกอย่างอยู่ฝั่งขวามือเหมือน Lumia ทุกรุ่น ส่วนฝั่งซ้ายมือไม่มีปุ่มใดๆ
ฝาหลังของเครื่องสามารถถอดเปลี่ยนได้ ช่องเสียบซิมการ์ดและ microSD อยู่ที่มุมซ้ายบน ต้องถอดฝาหลังออกก่อนจึงจะเสียบได้ (1520 เป็นแบบถาดใส่นาโนซิม)
เทียบขนาดกับ Note 3 จะเห็นว่าใหญ่กว่ากันเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่พอใส่กระเป๋ากางเกงไหว
ซอฟต์แวร์
รุ่นที่ได้มาทดสอบมีเลขเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการเป็น 8.0.10517.150
จุดเด่นของ Lumia 1320/1520 คือหน้าจอใหญ่สะใจ พร้อมแสดง Live Tiles แบบ 6 คอลัมน์ (ถ้านับ tile ขนาดเล็กที่สุด) ข้อดีคือไม่ต้องเลื่อนจอลงบ่อยเพราะแสดงข้อมูลบนจอได้เยอะขึ้น จาก
ประสบการณ์ที่เคยใช้ 1020 พบว่าจอใหญ่ขึ้นแบบนี้ใช้สะดวกกว่ากันมาก
ส่วนแอพที่มาพร้อมกับเครื่องก็ตามมาตรฐานโนเกียทั่วไป อย่างไรก็ตาม Lumia 1320 มาพร้อมกับกล้อง Camera รุ่นเล็ก (ตามภาพ) ถ้าอยากได้แอพ
Nokia Camera ก็สามารถดาวน์โหลดเพิ่มได้จาก Windows Phone Store เอาเองได้ (ตรงนี้น่าจะให้มาพร้อมกันเลยมากกว่า)
แอพอื่นๆ อย่างพวก
Cinemagraph,
Glam Me, PhotoBeamer, Nokia Creative Suite ติดมากับเครื่องอยู่แล้ว ส่วนแอพเสริม MixRadio, Nokia Beamer ต้องดาวน์โหลดเพิ่มเองจาก Store
Microsoft Office บนมือถือ
จุดเด่นของ Windows Phone อีกประการหนึ่ง (ที่คนอาจพูดถึงกันไม่เยอะนัก) คือแอพ Microsoft Office อย่างเป็นทางการ ไมโครซอฟท์ทำเองและเชื่อมต่อกับ SkyDrive ให้อัตโนมัติ ตรงนี้คนที่ต้องอ่านหรือแก้เอกสาร Microsoft Office บนอุปกรณ์พกพาบ่อยๆ อาจพิจารณาเป็นตัวเลือกเหนือแพลตฟอร์มคู่แข่งได้
Office Mobile อาจหน้าตาดูเรียบๆ ไม่ค่อยมีอะไรมากนัก แต่มันก็รองรับการใช้งานในกรณีส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ตัวแอพสามารถเปิดเอกสารได้จาก 4 แหล่งที่มา คือ
- เอกสารที่เก็บใน local storage ของมือถือเอง (กรณีที่โอนไฟล์เข้ามา หรือสร้างเอกสารใหม่จากมือถือเลย)
- email กรณีที่เปิดไฟล์แนบจากอีเมล มันจะจำไว้ให้และมาเปิดจากแอพ Office ในภายหลังได้
- SkyDrive น่าจะเป็นการใช้งานที่ง่ายที่สุด ยิ่งถ้าใช้ Office 2013 หรือ Office Web Apps ที่ซิงก์กับ SkyDrive อยู่แล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ
- Office 365 สำหรับคนที่จ่ายเงินเป็นสมาชิก Office 365 ก็สามารถเปิดเอกสารได้จากมือถือทันที
เอกสารที่ Office Mobile สามารถอ่านได้คือ Word, Excel, PowerPoint ส่วนเอกสารที่เป็น PDF ไม่สามารถอ่านได้ครับ (แก้ได้โดยการโหลดแอพ PDF Reader ของไมโครซอฟท์มาติดตั้ง ตรงนี้ควรรวมมาเป็นฟีเจอร์มาตรฐานตั้งแต่ต้น)
Office Mobile สามารถสร้างเอกสารใหม่ได้เลย (เฉพาะ Word/Excel เท่านั้น PowerPoint ยังทำไม่ได้) โดยแอพจะมีเทมเพลตเอกสารที่ใช้บ่อยมาให้จำนวนหนึ่ง
ประเด็นสำคัญของคนใช้ Office คงอยู่ที่ว่าเปิดเอกสารแล้วเพี้ยนจากต้นฉบับแค่ไหน ตรงนี้เราลองโดยการเปิดเอกสารจริง พบว่าการแสดงผลทำได้ค่อนข้างถูกต้อง จะมีติอยู่บ้างคือฟอนต์ภาษาไทยที่รองรับเพียงฟอนต์เดียวเท่านั้น ไม่ว่าใช้ฟอนต์ไทยใดในเอกสาร มันจะถูกเปลี่ยนเป็นฟอนต์ของ Windows Phone แทน (ซึ่งก็อ่านได้ปกติแค่ไม่สวยเท่าไร)
สำหรับเอกสารที่เป็น Word แอพจะแสดงข้อความแบบฟิตพอดีจอ ไม่ต้องเลื่อนซ้ายขวา รองรับการแก้ไขข้อความ การใส่คอมเมนต์ และการปรับฟอร์แมต (ตัวหนา ตัวเอียง สีตัวอักษร) ในระดับหนึ่ง
การแก้ไขเอกสารคงไม่สะดวกเท่ากับการแก้บนคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แต่ก็เพียงพอสำหรับการแก้ไขเอกสารเล็กๆ น้อยๆ (เช่น เพื่อนร่วมงานอีเมลไฟล์มาให้ตรวจ) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พบบ่อยบนมือถือ
เอกสาร Excel ลองเปิดเอกสารที่มีกราฟและชาร์ตประกอบ พบว่าแสดงผลได้ถูกต้อง แต่ไม่สามารถแก้กราฟได้จากมือถือ (แก้ตัวเลขในเซลล์ได้) สามารถปรับสูตรได้บ้างในระดับหนึ่ง และรองรับการแสดงผลเอกสารที่มีหลาย sheet ในไฟล์เดียว
สุดท้ายเอกสาร PowerPoint สามารถเปิดอ่านได้สวยงาม ไม่มีเพี้ยน สามารถแก้ข้อความในสไลด์ได้จากมือถือ (แต่แก้ฟอร์แมตไม่ได้) และสลับตำแหน่งของสไลด์ได้
OneNote
แอพตัวสุดท้ายในชุด Office คือ OneNote แอพจดโน้ตที่หลายๆ คนชอบใช้งาน แอพซิงก์กับบัญชี SkyDrive ได้เลย (ดังนั้นใครที่ใช้ OneNote เวอร์ชันหลังๆ ที่ซิงก์อัตโนมัติแล้วจะสะดวกมาก) แสดงผลได้ถูกต้อง สามารถแทรกภาพหรืออัดเสียงลงในโน้ตจากมือถือได้เลย
กล้อง
ภาพตัวอย่างจากกล้อง Lumia 1320 (ถ่ายด้วยแอพ Camera ตัวปกติ ไม่ใช่ Nokia Camera) ตั้งทุกอย่างเป็น Auto ทั้งหมด (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม) ถือว่าใช้งานทั่วไปไม่มีปัญหา แต่ถ้าอยากได้ฟีเจอร์แบบ PureView ทั้งหลายคงไม่มีให้ครับ
สรุป
Lumia 1320 ถือเป็นมือถือ Windows Phone รุ่นหลังๆ ที่น่าสนใจมาก หน้าจอใหญ่สะใจ สเปกโอเค กล้องโอเค ซอฟต์แวร์มาตรฐานครบครัน ในราคาที่ไม่แพงเท่ากับพวกตัวท็อปอย่าง 1020/1520 (ที่มีจุดขายอยู่ที่กล้องและสเปกแรง)
สุดท้ายแล้วการตัดสินใจซื้อ Lumia 1320 คงกลับไปอยู่ที่การเลือกแพลตฟอร์ม Windows Phone มากกว่า ถ้าพอใจกับ Windows Phone ทั้งในแง่ฟีเจอร์ของตัวระบบปฏิบัติการและจำนวนแอพ (ที่ดีขึ้นเยอะหลังอัพ Lumia Black แต่อาจจะยังด้อยกว่าคู่แข่งในบางจุด) แล้วอยากได้ Windows Phone ราคาไม่แพงจนเกินไป Lumia 1320 ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน