ภายใต้บทบาทที่โดดเด่นด้านการสื่อสารของระบบสารสนเทศ ปัจจุบัน เทคโนโลยียังมีศักยภาพสำคัญอีกประการในเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีบนเมฆ หรือ คลาวด์คอมพิวติ้ง ด้วยรูปแบบบริการสาธารณะ ล่าสุด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมด้านอุปกรณ์ และแนวนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ต้องการเสริมสร้างทักษะการเรียนการสอนในยุคดิจิตอลและยกระดับสถาบันการศึกษา จึงเกิดเป็นโครงการความร่วมมือด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง…
รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการศึกษามิติใหม่แบบ Hybrid Learning 2.0 ในสังคมยุคดิจิตอล การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาเสริมทักษะการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนการสอน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายอย่างสมบูรณ์ จึงถือเป็นการยกระดับการเรียนรู้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การใช้คลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อการศึกษา ยังสร้างโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่าง อาจารย์ เพื่อน และชุมชนออนไลน์ ผ่านการทำงานของอุปกรณ์และแนวคิด 3 จอ ได้แก่ จอคอมพิวเตอร์ เบราว์เซอร์ และโทรศัพท์มือถือ
อธิการบดี ม.หอการค้าไทย ให้ข้อมูลต่อว่า นักศึกษาที่สมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในปีนี้จะได้รับแจกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กคนละ 1 เครื่องพร้อมระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 และไมโครซอฟท์ออฟฟิศ 2010 เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยนักศึกษาสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ Wi-Fi ทั่วมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้พร้อมกัน 33,000 เครื่อง ทั้งนี้ จุดเด่นของระบบคลาวด์คือความสามารถในการช่วยลดค่าใช้จ่าย ในอนาคต ที่มหาวิทยาลัยฯ จะย้ายสถานที่ไปยัง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ก็ไม่มีปัญหาด้านอุปกรณ์และระบบ เนื่องจากสามารถย้ายตามไปได้โดยไม่มีปัญหา
"ความแตกต่างระหว่างการเรียนแบบ e-Learning และ Hybrid Learning คือ การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เพราะระบบ Hybrid ยังคงยึดคุณค่าการเรียนภายในชั้น การนำเสนอเนื้อหาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เตรียมตัวก่อนเข้าห้องเรียน แตกต่างจาก e-Learning ที่สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตและอีเมล์เท่านั้น" รศ.ดร.จีรเดช กล่าว
รศ.ดร.จีรเดช เปิดเผยรายละเอียดอีกว่า นอกจากระบบคลาวด์และรูปแบบการเรียนแบบ Hybrid ม.หอการค้าไทยยังมีเครื่อง My Choice สำหรับใช้เป็นคลิกเกอร์ในการตอบคำถามภายในชั้นเรียน จากการพัฒนาของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและสนับสนุนการใช้นวัตกรรมในการเรียน ซึ่งแจกนักศึกษาไปแล้วกว่า 10,000 เครื่อง และเตรียมแจกในภาคการศึกษาใหม่กว่า 5,000 เครื่องอีกด้วย
ด้าน น.ส.ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายความร่วมมือในครั้งนี้ว่า จากพันธกิจการส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนไทย ประกอบกับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ของม.หอการค้าไทย บริษัทฯ จึงสนับสนุนเทคโนโลยีรูปแบบ Cloud Computing เป็นโครงการระยะยาว 3-5 ปี เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ด้วยแนวคิด Anytime Anywhere Anydevices โดยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์เป็นเพียงพื้นฐาน แตกต่างจากแอพพลิเคชันหลายประเภทที่ม.หอการค้าไทยใช้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการต่อยอดอย่างก้าวหน้า
กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เล่ารายละเอียดต่อว่า ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนบริการออนไลน์และสิทธิประโยชน์การใช้ซอฟต์แวร์โครงการต่างๆ ของไมโครซอฟท์ อาทิ โครงการ Microsoft DreamSpark , Microsoft BizSpark , Microsoft WebsiteSpark , Microsoft Imagine Cup และโครงการ MSDNAA โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจัดตั้ง Microsoft IT Academy Programs แก่ม.หอการค้าไทย เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้ World-Class Microsoft Certificate ก่อนจบการศึกษา
น.ส.ปฐมา เปิดเผยด้วยว่า นอกจากความร่วมมือกับม.หอการค้าไทย ไมโครซอฟท์ยังพร้อมให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างและมีแนวนโยบายในการประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์ ซึ่งขณะนี้มีหลายสถาบันแสดงความจำนงมายังบริษัทฯ แต่ยังมีความพร้อมไม่เท่ากับม.หอการค้าไทย อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนเทคโนโลยีแก่สถาบันการศึกษาถือเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยี ซึ่งบริษัทฯ ไม่ต้องการจำหน่ายหรือคิดมูลค่า แตกต่างจากการทำธุรกิจและสร้างรายได้เชิงพาณิชย์
ในยุคที่ดิจิตอลกำลังกลืนกินทุกวิถีสังคม การปรับเปลี่ยนหรือประยุกต์ใช้สิ่งใหม่จึงกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญ เช่นเดียวกับความรู้และเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ นอกจากนั้น การใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คงเป็นปัจจัยเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ หากมีเทคโนโลยีใหม่และแพงมากมาย แต่ผู้ใช้ยังขาดความรู้หรือจิตสำนึกการใช้อย่างสร้างสรรค์ เชื่อว่า สังคมที่มีความเจริญหลากหลายด้านวัตถุ ก็คงพัฒนาได้เพียงเปลือกนอก สวนทางกับสภาพจิตใจที่มีแต่จะเสื่อมโทรมลงทุกวัน…
ปิยุบล ตั้งธนธานิช
itdigest@thairath.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น