นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในมันสมองของคนไทย ไม่มีชาติไหนคิดทำได้เสมอเหมือน
วันนี้คนไทยเป็นหนึ่งเดียวในโลกอีกครั้ง สามารถสร้างนวัตกรรมสุดยอดเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน
คิดประดิษฐ์มอเตอร์ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึง 96% จากมอเตอร์ให้แรงหมุน 0.043 กิโลกรัม-ตารางเมตร/วินาที ที่ว่าดีประหยัดพลังงานแล้ว กินกระแสไฟฟ้า 90 แอมแปร์...วันนี้คนไทยคิดทำให้กินกระแสไฟฟ้าจิ๊บๆ แค่ 3 แอมแปร์ และยังได้แรงหมุนมากถึง 3.11 กิโลกรัม-ตารางเมตร/วินาที
ได้ทั้งกำลังมากกว่า...ทั้งซดพลังงานน้อยกว่า 30 เท่าตัว เป็นมอเตอร์แบบใหม่ล่าสุดของโลก ที่ใช้พลังงานรังสีอินฟราเรด โดยการคิดค้นของ พล.อ.ท.มรกต ชาญสำรวจ อดีตเจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ และทีมงาน ที่ใช้เวลาวิจัยศึกษาพัฒนามาร่วม 3 ปี...วันนี้เพิ่งทำมอเตอร์ต้นแบบเสร็จแบบหมาดๆ เป็นมอเตอร์แบบที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า High Power, Low Energy Combustion Motor Engine... มอเตอร์กำลังสูง ซดพลังงานต่ำ แต่เพื่อให้เรียกกันได้แบบเข้าใจง่าย เลยตั้งชื่อว่า...เฮอร์คิวลิส สิ่งประดิษฐ์ใหม่เป็นมอเตอร์ ในสายตาชาวบ้านทั่วไปอาจจะมองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าตื่นตาตื่นใจสักเท่าไร ในใจคิดไปแค่มอเตอร์หมุนพัดลม แต่คนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมทั้งหลาย มองเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ สุดอลังการ...เพราะมอเตอร์ที่หมุนๆ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งหลาย
เครื่องจักร เครื่องกล รถยนต์ เรือ เครื่องบิน รถไฟ...ล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหมุนขับเคลื่อนด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใครสามารถคิดค้นเทคโนโลยีทำให้วัตถุหมุนเคลื่อนที่ไปได้โดยสิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด...นับเป็นเทคโนโลยีที่สร้างคุณูปการ ให้กับชาวโลกอเนกอนันต์ และมอเตอร์เฮอร์คิวลิส ที่อดีตเจ้ากรมฯ และทีมงานคิดทำขึ้นมา จุดเริ่มต้นก็มาจากต้องการนำไปใช้กับยานพาหนะ รถกับเรือ...เพื่อคนไทย ประเทศไทยจะได้ลดการใช้พลังงาน
"ตอนนี้ใครๆก็รู้โลกเรามีปัญหาภาวะโลกร้อน ที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์เราเผาพลังงาน ผลาญน้ำมันกันมาก โดยเฉพาะในภาคการขนส่ง
และนับวันน้ำมันก็จะยิ่งแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังใช้พลังงาน ใช้ น้ำมันกันอย่างนี้ ไม่เพียงเราจะต้องหมดเงินไปมาก ยังทำให้โลกร้อนมีปัญหาหนักขึ้นไปอีก น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น กรุงเทพฯอยู่ในเขตวิกฤติ อาจกลายเป็นชายทะเล จมไปอยู่ใต้น้ำ แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหนกัน"
พล.อ.ท.มรกต บอกถึงที่มาของการคิดประดิษฐ์มอเตอร์เฮอร์คิวลิส ที่เริ่มลงมือคิดทำในช่วงปลายปี 2549
เนื่องจากกลไกการใช้พลังงานเพื่อไปขับเคลื่อนรถยนต์ ยานพาหนะต่างๆในโลกใบนี้ อดีตเจ้ากรมฯอธิบายว่า มีอยู่ด้วยกัน 2 ระบบ
ระบบแรก ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เอาน้ำมันเชื้อเพลิงมาจุดระเบิด ชักลูกสูบให้หมุนขับเคลื่อนล้อ
ระบบนี้มีข้อเสียมาก ตั้งแต่เสียงดัง ก่อมลพิษ เขม่าควันพ่นและสารพัดแก๊สพิษ
แบบที่สองก็คือ มอเตอร์ที่เอาพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) มาผลิตเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า ผลักให้แกนเหล็กข้างในหมุนวนขับเคลื่อนล้อ ใบพัดต่างๆได้
ระบบนี้ถึงจะดีในแง่ไร้มลภาวะ ทั้งในเรื่องเสียงและมลพิษทางอากาศก็ตาม
แต่ก็ยังมีข้อเสียในเรื่องความร้อน เปิดเดินเครื่องให้มอเตอร์หมุนต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นชั่วโมง มอเตอร์จะเกิดความร้อนและไหม้เสียหาย
แต่ที่เอามาใช้กับรถยนต์ ยานพาหนะแล้วไม่ร้อนเสียหาย นั่นเป็นเพราะขับรถไป มีหยุด มีพัก เบาเครื่องตลอดเวลา...มอเตอร์เลยไม่ไหม้ ให้เห็นคาตา
"มอเตอร์ที่เอามาขับเคลื่อนรถยนต์ ขนาด 90 แอมแปร์ ใช้ต่อเนื่องแบบไม่มีหยุดพัก แค่ 1 ชั่วโมง แบตเตอรี่ก็หมดแล้ว ต้องชาร์จใหม่ มอเตอร์แบบนี้แม้จะถือว่าดีที่สุดแล้วในขณะนี้ แต่ในความเห็นของผม คิดว่ามันกินกระแสไฟฟ้ามากเกินไป
กินกระแสไฟมาก แบตเตอรี่หมดเร็ว ต้องชาร์จบ่อย เลยมาคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรเราถึงจะได้มอเตอร์แบบที่กินไฟน้อย เพื่อจะได้ช่วยกันประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน"
แม้อายุอานามจะ 76 ปีเข้าไปแล้ว แต่ด้วยใช้สมองคิดประดิษฐ์ รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน มาไม่หยุดหย่อน ความจำยังแม่นยำไม่หลงลืม เลยรื้อฟื้นความรู้สมัยรับราชการสร้างจรวดเห่าฟ้ามาช่วยสร้างมอเตอร์เฮอร์คิวลิส
"ที่ผ่านมาเรารู้ว่ารังสีอินฟราเรดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ได้มากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์นำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยรักษาโรค ทางทหารนำไปในการทำจรวดนำวิถี
และรู้ด้วยว่า รังสีอินฟราเรดเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง ที่เราสามารถผลิตขึ้นมาได้ในราคาที่ต่ำมาก เลยตั้งเป้าที่จะเอาอินฟราเรดมาเป็นพลังงานขับเคลื่อนมอเตอร์สุดยอดประหยัดพลังงาน"
หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นาน ในที่สุดก็พบทางสว่าง...ได้มอเตอร์ที่ลดการใช้พลังงานได้ถึง 96%
ด้วยการนำไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาผลิตรังสีอินฟราเรด...จากนั้นเอารังสีอินฟราเรดที่ได้มาขยายให้มีกำลังสูงเพิ่มเป็น 100 เท่า
แล้วนำอินฟราเรดมาปล่อยยิง เป็นจังหวะสม่ำเสมอ 120 ครั้งต่อ 1 นาที ให้ไปกระทบกับก้านใบกังหันเทอร์ไบน์ที่เคลือบด้วยสารพิเศษ (ซึ่งเป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้)
สารพิเศษที่ว่านี้มีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อเจอรังสีอินฟราเรดที่ยิงออกมาแล้ว จะเกิดแรงต่อต้านสะท้อนกลับ ผลักให้กังหันเทอร์ไบน์หมุนติ้ว แบบเดียวกับมอเตอร์ไฟฟ้า
อยากจะได้มอเตอร์มีกำลังแรงมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการออกแบบกังหันเทอร์ไบน์มีขนาดเท่าไร มีใบกังหันกี่ชั้น และมีชุดยิงรังสีอินฟราเรดกี่ชุด
ตอนนี้มอเตอร์เฮอร์คิวลิสเครื่องต้นแบบที่ทำออกมาขับดันใบพัดเรือหางยาว มีกังหันเทอร์ไบน์ 3 ชั้น ชุดยิงอินฟราเรด 3 ชุด ซดกระแสไฟฟ้า 3 แอมแปร์...แต่ได้กำลังงานเท่ากับมอเตอร์ซดกระแสไฟฟ้า 90 แอมแปร์
ที่สำคัญ ใช้ติดต่อกันต่อเนื่องยาวนาน...ไม่มีร้อน ไม่มีไหม้ เหมือนมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงทั่วไป
และใช้แบตเตอรี่ขนาดเดียวกัน มอเตอร์ทั่วไป 1–2 ชั่วโมง แบตฯหมดต้องชาร์จไฟใหม่...แต่มอเตอร์พลังอินฟราเรด ใช้ได้นานถึง 30 ชั่วโมง
นี่เป็นขั้นต้นประดิษฐกรรมมอเตอร์ไฟฟ้าซดพลังงานจิ๊บๆ พล.อ.ท.มรกต บอกว่า ถ้ามีการคิดพัฒนาต่อยอดออกไป มอเตอร์พลังงานอินฟราเรดไม่เพียงนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเรือที่ใช้สัญจรในแม่น้ำเท่านั้น เอาไปขับเคลื่อนเรือเดินสมุทร รถยนต์ รถโดยสาร ได้ทั้งนั้น
ที่สำคัญ ยังสามารถนำไปพัฒนาทำเป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ทำเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กปั่นไฟได้ด้วย
ได้ไฟฟ้ามาก ด้วยต้นทุนผลิตที่ต่ำ...ปลอดฝุ่นควันและมลพิษ
คนไทยคิดได้ทำได้ หนึ่งเดียวในโลกขนาดนี้...ได้แต่ฝันว่า เมื่อไร เราคนไทย รัฐบาลไทยจะร่วมมือร่วมใจ นำความคิดของคนไทยด้วยกันมาต่อยอดให้กลายเป็นจริง
ให้ชาวโลกยอมรับ...และคนไทยด้วยกันเองได้ภูมิใจในความเป็นไทย จะได้รักชาติ ไม่เผาบ้านเผาเมืองเพราะไม่มีอะไรให้น่าภูมิใจ.