วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กทช.บีบโอเปอร์เตอร์คืนคลื่น 2จี ก่อนเปิดใช้ 3จี

กทช.ปรับแผนการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ เล็งบีบเอกชนให้คืนคลื่นส่วนเกินให้กทช. จัดสรรใช้ประโยชน์ หวั่นใช้คลื่นเกินความจำเป็น ตั้งหลักยึดการแข่งขันที่เป็นธรรมทุกฝ่าย ก่อนเปิดใช้งาน 3จี...

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2553 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กล่าวว่า ได้กำหนดเงื่อนไขการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Spectrum Cap) ลงในหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ สำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมที่อาจได้รับใบอนุญาต หรือ ไลเซ่นส์ 3 จี เพิ่มเติม โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องทยอยส่งคลื่นคืนให้กับเจ้าของสัมปทาน คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ตามพื้นที่ที่เปิดให้บริการ 3 จี เช่น ถ้าดำเนินการ 3 จี ที่ภูเก็ตก็ต้องคืนคลื่น 2 จี ที่ภูเก็ต เป็นต้น

กรรมการ กทช. กล่าวต่อว่า แม้ผู้ประกอบการมือถือเดิมที่ได้รับใบอนุญาต 3 จี จะต้องคืนคลื่นความถี่ 2 จี ให้กับคู่สัมปทานแล้วก็ตาม แต่การให้บริการตามสัญญาสัมปทานยังเป็นเช่นเดิม โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงการเปลี่ยนสิทธิ์การบริหารคลื่นความถี่ จากผู้ประกอบการมือถือมาเป็นเจ้าของสัมปทานเท่านั้น ทั้งนี้ การคืนคลื่นความถี่จะไม่ทำให้การบริการเดิมยุติลง โดยทีโอที และกสท ในฐานะเจ้าของสัมปทานจะต้องจัดหาคลื่นความถี่ให้กับคู่สัญญาสัมปทานอย่างเพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าจนกว่าจะหมดอายุสัมปทาน

พ.อ.ดร.นที กล่าวต่อว่า ทั้งหมดเป็นการคืนสิทธิ์ที่ครอบครองของผู้ให้บริการมือถือในปัจจุบันไปให้กับคู่สัมปทาน หากได้รับไลเซ่นส์ 3 จี เพื่อสร้างการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ขณะที่ ความถี่ที่ไม่ใช้งานก็ต้องคืนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ถึงแม้จะคืนคลื่นให้กับเจ้าของสัมปทาน แต่สิทธิ์การใช้ความถี่ยังมีตามสัญญาสัมปทานนั้น กทช.ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เป็นการคืนคลื่นตามระยะเวลาและพื้นที่มี 3 จี และไม่ควรมีคลื่นทับซ้อน

“กทช.พยายาม กำหนดให้ไปสู่ความเปลี่ยนผ่าน ให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้ใครถือครองคลื่นความถี่มากเกินไป จนทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยให้มีคลื่นความถี่ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งทุกคนที่ได้รับใบอนุญาต 3จี ต้องมีคลื่นความถี่ที่ถือครองเท่าๆ กัน และแต่ละผู้ประกอบการจะถือครองคลื่นความถี่ตามความจำเป็นที่ต้องใช้งาน ทั้งนี้ ตามความต้องการของกทช. คือ การถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ควรถือครองไม่เกิน 15 เมกะเฮิร์ตซ” กรรมการ กทช.กล่าว

พ.อ.ดร.นที กล่าวอีกว่า ขณะนี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ยังเหลืออายุสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อีก 5 ปี ส่วนบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (มหาชน) เหลืออายุสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อีก 3 ปี ขณะที่ บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เหลือายุสัญญาสัมปทานกับ กสท อีก 8 ปี

ขณะเดียวกัน กสท ถือครองคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 17.5 เมกะเฮิร์ตซ ทีโอที ครองคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ จำนวน 15 เมกะเฮิร์ตซ เอไอเอส ครองคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 17.5 เมกะเฮิร์ตซ ดีแทค ครองคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 10 เมกะเฮิร์ตซ และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 25 เมกะเฮิร์ตซ ดีพีซี ครองคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 12.5 เมกะเฮิร์ตซ และทรูมูฟ ครองคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 12.5 เมกะเฮิร์ตซ

ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ เป็นการเขียนเพิ่มเติมขึ้นจากการกำหนดให้ผู้ประกอบการ 2 จี ต้องจัดทำแผนการส่งคืนคลื่นความถี่ โดยจะสอดคล้องกับแผนการสร้างโครงข่าย (Roll out plan) โดยผู้ได้รับใบอนุญาตจะทยอยส่งคืนคลื่นตามพื้นที่ที่เปิดให้บริการ 3จี ที่ผู้ประกอบการ 2จี ต้องยุติการให้บริการเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน อย่างไรก็ตาม กทช.ยังได้ปรับมูลค่าเริ่มต้นในการประมูลคลื่นสำหรับให้บริการ 3จี เป็น 12,800 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 1 หมื่นล้านบาทด้วย

ที่มา http://www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: